homeprovincearchitecturepaintsculpturecontact
 

วัดสนวนวารีพัฒนาราม

ประวัติความเป็นมา

เดิมชื่อวัดชนวน เพราะมีต้นขนวนอยู่ภายในวัด เมื่อเวลาผ่านไปจึงเพี้ยนจาก “ขนวน” มาเป็น “สนวน” วัดนี้สร้างราว พ.ศ. ๒๔๖๕  โดยการบริจาคตามกำลังศรัทธาของชาวบ้าน รวบรวมได้สองร้อยบาท  มีช่างญวนเป็นช่างใหญ่และเป็นช่างแต้ม  ส่วนสิมนั้นสร้างหลังจากสร้างวัดสองปี

 

ที่ตั้ง

ตั้งอยู่ที่บ้านหัวหนอง ตำบลหัวหนอง อำเภอบ้านไผ่  จังหวัดขอนแก่น ห่างจากที่ตั้งจังหวัดขอนแก่นประมาณ ๔๖ กิโลเมตร เดินทางไปตามถนนมิตรภาพ สายขอนแก่น – บ้านไผ่ เลยสี่เเยกที่เลี้ยวไปทางชนบท ตรงไปทางอำเภอพล ประมาณ ๒๐๐ เมตร แยกขวาไปตามถนนลูกรังประมาณ ๑๒ กิโลเมตร จะถึงทั้งวัดสนวนวารีพัฒนาราม

 

อาคารเสนาสนะ

 
 
 

รูปแบบสิม ,วัสดุและโครงสร้าง

เป็นสิมทึบก่ออิฐฉาบปูนขนาดเล็ก  ยาว ๓ ห้อง  ก่อซุ้มโค้งแบบช่างญวนทั้งหมด  คือ ด้านหน้า ๓ ซุ้มกลางเป็นบันไดขึ้นขนาบด้วยซุ้มหน้าต่างข้างละซุ้ม  ส่วนหน้าต่างนั้นทำโค้ง  ด้านข้างด้านละ ๓ โค้ง ๒ โค้งแรกเป็นซุ้มหน้าต่างไม่มีบานปิดเปิดปล่อยโล่ง อีก ๑ โค้งเป็นซุ้มหลอก ปิดทึบเขียนฮูปแต้มประดับ  ใต้ซุ้มเหล่านี้ทำเป็นลูกกรงเจาะช่อง ๔ เหลี่ยมหยักหัวเสาไม่ตกแต่งปลายเสา  หลังคาทรงจั่วชั้นเดียว  มีชานจั่ว  โหง่และลำยองเป็นไม้แบบไท-อีสานพื้นบ้าน  หลังคาปีกนกยื่นมีเสารับ ๑๘ ต้นโดยรอบ (น่าจะทำเพิ่มเติมภายหลังเพราะมีร่องรอยการเจาะหัวเสาใส่จันทันปีกนก) พื้นที่ใช้สอยภายในสิมกว้างยาวประมาณ ๓x๖ ตารางเมตร พระประธานปูนปั้นปางมารผจญอยู่บนฐานชุกชีแบบพื้นบ้าน  มีฮูปแต้มตลอดผนังครึ่งบนทั้ง ๔ ด้าน  สีที่ใช้เป็นสกุลสีครามทั้งหมด  ส่วนด้านนอกนั้นช่างแต้มก็ได้แต้มใส่จนเต็มผนังมีเรื่องราวพุทธประวัติและสินไชย  ทำให้สิมหลังนี้ถึงแม้จะด้อยในทางสถาปัตยกรรม  แต่ดูมีคุณค่าสูงส่งขึ้นมาทันทีเพราะมีฮูปแต้มแบบพื้นบ้านนี้  น่าจะเป็นฝีมือช่างแต้มไท-อีสานพื้นบ้าน ซึ่งอยู่แถบบ้านหัวหนองแห่งนี้  ส่วนวัสดุที่เป็นอิฐนั้นน่าสงสัยว่าจะทำขึ้นมาเอง  อายุการใช้งานคงไม่น่าเกิน ๖๐ ปีแต่พิจารณาดูแล้วน่าจะเปื่อยยุ่ยเร็วกว่าปกติ  เพราะความชื้นจากดินเค็มจะลามขึ้นมาถึงผนังที่มีฮูปแต้มทำให้สภาพวัสดุเสื่อมสลายลงเร็วกว่าธรรมดา  ส่วนโครงหลังคาเป็นเครื่องไม้นั้นจะไม่มีผลแต่ประการใด

 

 
 

 

รายละเอียดส่วนประดับมีดังนี้

 
 
 
 

 

 

พระประธานภายในสิม

 
 

ฮูปแต้ม (จิตรกรรมฝาผนังอีสาน)

         ฮูปแต้มด้านนอกเขียนไว้เหนือแนววงโค้ง  เริ่มจากผนังด้านทิศใต้ต่อเรื่อยไปทางตะวันตก  ทิศเหนือ  จน สุดผนังด้านทิศตะวันออก แต่ยังไม่จบเรื่อง ช่างก็กระโดดไปต่อเรื่องจนจบที่ผนังด้านหลัง (ตะวันตก) เนื่องจากเป็นด้านเดียวที่พอมีพื้นที่เหลือ เนื้อหาเป็นนิทานพื้นบ้าน ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการนำมาเขียนจิตรกรรมฝาผนังในภาคอีสาน คือ เรื่อง “สินไชย” หรือ “สังข์ศิลป์ชัย”
ส่วนฮูปแต้มด้านในก็คล้ายกัน  คือเริ่มจากผนังด้านทิศเหนือต่อเรื่อยไปทิศตะวันตก ทิศใต้ และทิศตะวันออกจนสุดผนัง  ยังไม่จบเรื่อง กระโดดไปต่อจนจบที่ผนังด้านหลัง (ตะวันตก)  ที่เห็นอย่างนี้อย่าคิดว่าผิดแบบธรรมเนียมแต่อย่างใด  เพราะสิมที่มีฮูปแต้มของอีสานเกือบทุกแห่งเป็นอย่างนี้ 
         ช่างเขียนภาพไป  บางทีนึกขึ้นได้ว่าลืมตอนสำคัญ ก็มองหาที่ว่าง จะแทรกตรงไหนได้บ้าง  ดังนั้นผู้ที่จะดูภาพเข้าใจ  ก็ต้องมีพื้นความรู้เกี่ยวกับนิทานพื้นบ้านอีสานไว้บ้าง  เพราะนอกจากบางครั้งจะไม่วาดตามลำดับเรื่องราวแล้ว  บางทียังแปลงเรื่องใหม่สุดแท้แต่ความนิยม และความรู้ของช่าง  สร้างสรรค์กันได้อย่างอิสระ  ไม่มีกรอบหรือแบบแผนที่ต้องเคร่งครัดเหมือนงานช่างหลวง

 

 

 


 

ข้อมูลอ้างอิง : สอนสุพรรณ และ กัลญาณี  กิจโชติประเสริฐ. ฮูปแต้มสิมวันสนวนวารีพัฒนาราม, นิตยสารศิลปากร (ก.ย. – ต.ค. ๒๕๔๕)